Sunday, December 17, 2006

Language Acquisition Theory (L1)

เรื่อง ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ ตามแนวคิดของ นอม ชอมสกี (โดยย่อ)
Language Acquisition Theory

นอม ชอมสกี เห็นว่า ภาษาเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด (Innateness Hypothesis) และจำกัดอยู่ในความสามารถของมนุษย์เท่านั้น (Species-Specific) สัตว์มีความสามารถในการสื่อสารแต่ไม่พัฒนาขึ้นมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ภาษา”

เนื่องจากมนุษย์มีเครื่องมือทางภาษาติดอยู่ในตัว (Linguistic Acquisition Device – LAD หรือ Language Faculty) เมื่อได้รับประสบการณ์ทางภาษาใดภาษาหนึ่งก็สามารถจะใช้ภาษานั้นได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นในขั้นนี้ ชอมสกีเห็นว่า เด็กแรกเกิดเมื่อยังอยู่ในขั้นเรียนรู้ภาษาก่อนที่จะสามารถพูดหรือแสดงออกได้มีอุปกรณ์ที่พร้อมจะรับภาษาได้ทุกภาษามนุษย์ในโลกนี้กำลังได้รับประสบการณ์ทางภาษาและปรับให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของภาษานั้น ๆ สามารถเขียนเป็นแผนภูมิอธิบายการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ได้ดังนี้

อุปกรณ์ทางภาษา > ประสบการณ์ทางภาษา > ความรู้ในไวยากรณ์ของภาษานั้น ๆ

ถามว่า หากมีเฉพาะประสบการณ์ทางภาษาอย่างเดียวจะสามารถเรียนรู้ภาษาได้หรือไม่ สิ่งที่ชอมสกีสร้างเป็นสมมติฐานขึ้นมาก็คือว่า ประสบการณ์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะอธิบายการเรียนรู้ภาษาในขั้นรวดเร็วได้ หรือถ้าเพียงแต่อาศัยประสบการณ์ สัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่กับมนุษย์ก็สามารถเรียนรู้ภาษาและใช้ภาษาของมนุษย์ได้ แต่สิ่งที่ชอมสกีต้องการอธิบายก็คือ การที่เด็กมีเครื่องมือที่พร้อมจะรับทุกภาษาแต่ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและประสบการณ์ทางภาษา จะสังเกตเห็นว่า ประสบการณ์ทางภาษาสำคัญมากที่ทำให้เด็กเรียนรู้ แต่หากขาดอุปกรณ์ทางภาษาก็อาจไม่สามารถนำมาใช้อย่างถูกต้องได้หากแต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางคนอาจได้รับอิทธิพลจากผู้พูดที่ผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์ในระดับการแสดงออก (Performance) แต่นั่นก็มิใช่เป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก

Principles & Parameter Theory
ชอมสกีอธิบายแนวคิดเพิ่มว่า เนื่องจากเด็กสามารถรับรู้ได้ทุกภาษาขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางภาษา แต่ลักษณะไวยากรณ์ของแต่ละภาษาแตกต่างกัน อะไรคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กรับรู้ภาษา ชอมสกีอธิบายว่าเนื่องจากอุปกรณ์ทางภาษาจะมีเพียงโครงสร้างที่รองรับลักษณะสากลของทุกภาษา ซึ่งเราเรียกว่า Universal Grammar แต่เมื่อได้รับประสบการณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง เด็กก็จะมีการตั้งระบบที่เข้ากับลักษณะเฉพาะของภาษานั้น ซึ่งชอมสกีใช้คำว่า Parameter เช่น เมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมของภาษาที่คำถามวางอยู่ข้างหน้าประโยค เด็กก็จะเริ่มตั้งระบบนี้เข้าไปในการเรียนรู้ภาษา ในขณะเดียวกันเด็กก็จะปฏิเสธระบบอื่น ๆ โดยอัตโนมัติหากไม่ได้รับประสบการณ์ทางภาษาอื่น ๆ ดูตัวอย่าง

(5) A: What doing?
B: Eating.
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เด็กเอาคำ Wh-question มาวางไว้หน้าและตั้งระบบนี้ไว้ในตัว เราเรียกสิ่งนี้ว่าการตั้งระบบค่าเฉพาะทางภาษาอังกฤษ (Head-first Movement) แต่หากเราสังเกตการณ์เรียนรู้ภาษาของเด็กไทย ก็จะเห็นว่าการใช้คำถามกลับวางไว้ท้ายประโยค (Head last Movement)

(6) A: ทำอะไร
Doing What?
B: กินข้าว
Eating

ลองดูตัวอย่างจากภาษาจีน

(7) A: What do you think he will say?
B: Ni Xiangxin ta hui shuo shenme?
You think he will say what (Radford: 2001)

เห็นได้ว่าคำ Wh-question ในภาษาไทยกลับวางไว้ข้างหลัง ก็เป็นลักษณะที่แตกต่างจากภาษาอังกฤษทั่วไป นี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น การตั้งค่า Parameter ยังมีเรื่องอื่น ๆ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะอื่น ๆ เรื่อย ๆ ในขณะที่เด็กยังเรียนรู้ภาษาอยู่ จนความรู้ทางภาษาของตนเติมเต็ม (100% of Competence) นั่นคือการสร้างความรู้ทางภาษาตนเองอย่างสมบูรณ์ และนับจากนั้นไปการเรียนรู้ภาษาที่สองก็เป็นเรื่องที่แตกต่างกันจากการเรียนรู้ภาษาที่หนึ่ง นั่นหมายถึงว่าเราต้องมาตั้งค่าลักษณะเฉพาะของภาษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การตั้งค่าลักษณะเฉพาะของภาษาใหม่เกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากการรบกวนของ Parameter ของภาษาเก่า รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้เรียนภาษาที่สองไม่สามารถกำหนดได้ เช่น อายุสำหรับการเรียนรู้ (Critical Age Hypothesis) และสิ่งแวดล้อมทางภาษา ผู้เรียนอาจไม่ได้รับประสบการณ์ทางภาษาที่สองเพียงพอ หรือผู้เรียนมีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจไม่กล้าพูดคุยโดยใช้ภาษาอื่น ๆ ก็เป็นได้

1 comment:

Dhrwit said...

thank you Khun Kris for your clear explanation in Universal Grammar